053 ธรรมปัจเวกขณ์ ในช่วงนี้ได้พยายามใช้ภาษาสื่อชี้เน้น ให้เข้าใจความสัมพันธ์ ของคำว่า "ธรรมะ" ที่ชื่อว่า "สัจจะ" ที่ชื่อว่า "ศรัทธา" แม้ที่สุดถึงขั้น "วิมุติ" แม้ที่สุดถึงขั้น "นามธรรม" พยายามชี้ให้เห็นว่า สัจจะคืออะไร สมมุติ ประกอบไปด้วย ความหยาบอีกมาก ส่วนปรมัตถ์นั้น ก็เลื่อนละเอียด จนถึงขั้นนามธรรม ไปสู่จิตใจนั่นเอง ท่านถึงเรียก ปรมัตถธรรมว่า เขาเริ่มปรมัตถธรรม ตั้งแต่ที่จิตได้ มีจิต มีเจตสิก มีอาการ มีอารมณ์ อาการอารมณ์เหล่านั้น เรามีธัมมวิจัย มีสติ รู้จิตเจตสิกเรา และเราก็วิจัย จิตเจตสิกเราว่า อารมณ์อาการเรานี้ มีกิเลสปนอยู่หรือเปล่า มันเป็นความคิดผิด แล้วก็เป็นต้นคิด ที่ไปทำให้วาจาผิด เป็นต้นคิด ที่ไปทำให้กายกรรมผิดหรือเปล่า วิจัยอย่างแยบคาย มีปัญญาเครื่องสอดส่อง ทำจริงๆ อ่านจริงๆ พยายามเสมอ เมื่อผัสสะแล้ว มันก็จะไปรับผัสสะ คนเรานี่ มันจะไปมีปฏิกิริยา ตอบกับผัสสะ ตอบแล้ว มันก็จะมาหาจิต แล้วเราก็จะไปอยู่ที่ผัสสะ ตอบกับผัสสะ อยู่โน่นแหละ แต่ไม่มาวิจัยจิต เพราะความเร็วของจิตเรา ยังไม่พอ ถ้าความเร็ว ของเราพอ เราที่จะมาวิจัยจิต ด้วยผัสสะที่รับ เราที่ทำไปด้วย ทำงานที่มีสัมผัส มีกิจมีการ มีบทบาท และเราก็อ่านจิตไปด้วย การฝึกจิต ที่ให้แววไวอย่างนี้ เรียกว่า ฝึกฌาน ฝึกจริงๆ มีวิตกวิจาร ที่เรียกได้ วิตกวิจาร หรือ ธัมมวิจัย เป็นคำคล้ายกัน เป็นไวพจน์ เป็น synonym เป็นคำ มันขยายคำกัน ไม่ต่างกันนัก วิจัยวิจาร วิเคราะห์หาความถูก ความผิด ความดีกว่า ความดีที่สุด มีการดีอันนี้ อันนี้เราเรียกว่าไม่ดี อันนี้เราเรียกว่าดีกว่า ก็คือตัวที่ดี ดีกว่า ถ้าไปเจอเอาตัว ดีที่สุด ตัวดีกว่า ที่สู้ตัวดีที่สุดไม่ได้ ตัวดีที่สุดที่ดี ตัวดีกว่าที่ถือว่าไม่ดี อย่างนี้ก็ถือว่าด้วย อย่างนี้เป็นต้น เราจะพยายามพากเพียร ทำให้ดีกว่า ขึ้นไปเรื่อยๆ หรือดีที่สุด จนไม่มีที่จะดีอีกกว่านี้ ไปเสมอๆ มันทำไม่ได้ เราก็รู้ว่า ยังทำไม่ได้ ก็ต้องพยายาม พยายามแก้ไข ปรับปรุงทางที่ถูกแล้ว แต่เรามีอินทรีย์พละ เท่านี้ เราก็ต้องรู้ ทางที่ถูก ที่ไม่ต้องสงสัย ทำจริงๆ มันได้เท่านี้ เราก็ต้องรู้ตนว่า จำนวนเท่านี้ แต่ขอให้เคลื่อนขึ้น ให้มันเดินหน้าขึ้น ให้มันดีขึ้น ได้นิดได้น้อยก็เอา ทบทวนวิธีการ ทางปฏิบัติ มันก็ถูกตรงหมดแล้ว เราก็ต้องรู้ตัวจบว่า เรามีอินทรีย์พละเท่านี้ เราทำได้เท่านี้ และ มันก็ดีขึ้นอยู่ได้บ้าง ขึ้นอยู่ก็เอา ถ้าเผื่อว่า เราสามารถทำได้มากๆ มันก็เป็นบารมีของผู้นั้น มันก็ยิ่งดี เราจะได้มาก ก็เพราะว่าเราเอง เรามีบารมีจริง เราสั่งสมทุนรอน สั่งสมวาสนาบารมี ไปเรื่อยๆ เพิ่มเติมขึ้น ด้วยกรรม คือ การกระทำ ไม่มีใครทำให้เรา เราทำเองทั้งนั้น ก่อนอื่น เราก็จะต้องรู้แม่น รู้อย่างชัดว่า นี่เป็นตัวกิเลส นี่เป็นตัววิธีการ และใช้วิธีการนี้ดีดี ถ้ามีวิธีการดีกว่านี้ ที่พยายามปรับปรุงเสมอ พยายามปรับปรุง และวิธีการนี้ที่ไม่ผิดกัน วิธีการนี้ ทำให้กิเลสลด ทำให้เจริญขึ้น ทำให้ดีขึ้น ทำให้ไม่เป็นมิจฉา แต่มันเป็นสัมมาเสมอๆ เจริญขึ้นๆ โดยเฉพาะได้กล่าวแล้วว่า ปรมัตถธรรมนั้นคือจิต หรือ ปรมัตถสัจจะ นั่นคือ จิต-เจตสิก เห็นกิเลสลด จางคลาย เห็นกิเลสหมด และการงานเราที่ทำได้ผัสสะ เราก็มี ขยันหมั่นเพียรได้ ทั้งภายนอกภายใน ได้ทั้งการงานนอก การงานใน เห็นสัจจะจริงๆว่า มันได้มันถูก มันเจริญ จิตดี การงานก็ดี ไม่ได้เสื่อม เป็นมนุษย์อย่างโลกๆ เราก็มีกิจการงานสร้างสรร ใครมาดูถูกไม่ได้ การงานภายใน เราก็ทำไปด้วย จริงๆไม่ง่าย สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เรียนถูกทาง ไม่ได้ฝึกมา เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะฝึกต้นๆ ก็ต้องปล่อย สิ่งที่มันเป็นความผิด ความไม่ดี ความอะไรของเราอีกเยอะ ปล่อยก่อน เอากำหนดลงไป เรียกว่า ตั้งศีล หรือ ตั้งหลัก หรือ ตั้งหัวข้อ เอ้! เรื่องนี้เอาจุดอื่น รู้แล้วล่ะ เพราะนั่น มันก็เป็นไปไม่ได้ มันผิดอยู่ มันทำไม่ได้ เอาตรงนี้ให้จริงก่อน เอากะมันเรื่องนี้ก่อน จนเราทำได้ เห็นสัจจะ เห็นจิต-เจตสิก ทำได้แล้ว มีความแววไว ที่อ่านทัน ทำงานนี้ไป ผัสสะต่อเหตุปัจจัยอย่างนี้ ว่าเราเอง เราผัสสะแล้ว ก็สามารถตัดกิเลสได้ ลดกิเลสได้ จนสามารถอยู่เฉยๆได้ วางได้จริงๆ จนกระทั่ง ชนะอย่างเด็ดขาด คุณจะรู้อาการสัจจะจริงๆ ว่ามันชนะเด็ดขาด อยู่กับมัน เหนือมัน ทำอะไรเราไม่ได้ และอาการของกิเลสที่ เคยรักเคยติด เคยชอบ เคยหลง มันหมดไปจริงๆ ก็เห็นสุญญตา เห็นสุญญภาพ ในความว่าง ความดับสนิท ไม่เกิดอีก สัมผัสอีกเมื่อไหร่ ที่ไม่เกิดอีก ไม่เกิดกิเลสอีก จริงๆ เราก็จะต้องรู้อย่างแท้ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราที่จะเข้าใจสัจจะ เราเชื่อมั่น เป็นศรัทธา เชื่อเพราะเรามี ยถาภูตญาณทัสสนะ เชื่อเพราะเรามีปัญญา รู้เห็นของจริง มันมีของจริง ที่ทำดีแล้ว ดีกว่า จนดีที่สุด จบแล้วเราก็รู้จบ นี่เป็นตัวเดียว เอาเรื่องเดียว เอาสิ่งเดียวมาอธิบาย เราทำ ถ้าผู้ใด งานหรือว่าปฏิบัติธรรม มันก็มีสิ่งอื่น พอจะมีอินทรีย์พละ ทำอย่างอื่นได้บ้าง มันก็สอดซ้อนกันไป มันก็ไม่เท่ากัน อันนี้ได้มากแล้ว อันนี้ยังได้เพิ่งได้ อันนี้สุดแล้ว สุดแล้วก็เริ่ม ก็เพิ่มอันใหม่ มีอะไรอันใหม่ เพิ่มเติมขึ้น สอดร้อยขึ้นไป จริงๆ เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่กล่าวนี้ จะไม่ใช่ฟังเท่านั้น ฟังแล้วก็วิเคราะห์วิจัย และก็มาตรวจตัวเอง เลือกเฟ้น เอาสิ่งนั้นๆ เข้ามาปฏิบัติจริงๆ จนกระทั่ง มีผลจริงๆ เราก็เกิดศรัทธา และเกิดสัจจะ และเราก็จะได้ศรัทธา เชื่อถือความจริง สัจจะก็ได้ขึ้นๆ เป็นอริยสัจ เรียกว่าอริยสัจ โดยเฉพาะกิเลส เป็นเหตุแห่งทุกข์ เราลดกิเลส ก็คือ เหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ก็ต้องหมดไปด้วย กิเลสลดไป คือเหตุแห่งทุกข์ ก็หมดไปด้วย เหตุแห่งทุกข์หมด ตัวทุกข์หมด เราก็รู้ด้วยปัญญาว่า มันนิโรธ หรือว่ามันจางคลาย จนนิโรธแล้ว ทุกข์นิโรธ เหตุแห่งทุกข์นิโรธ ดับทุกข์ ดับเหตุแห่งทุกข์ ด้วยทางปฏิบัติอย่างนี้ๆ เราที่จะรู้อริยสัจ ๔ คืออะไร สัจจะที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ เหตุปัจจัย ที่มันเป็นทุกข์ ตัวทุกข์ที่มันเกิด เพราะเหตุ หมดเหตุ ตัวทุกข์หมด เราที่รู้อยู่ เรียกว่า นิโรธ โดยภาษา แต่สัจจะ ตัวสภาวะสัจจะนั้น มันนิโรธ มันดับทุกข์ มันไม่มีเหตุอีก มันไม่เกิดอีกแล้ว ไม่เกิดอยู่ เห็นอยู่ว่าไม่เกิดอยู่ เราจะเป็นผู้รู้สัจจะนี้ แล้ว เราไม่ได้เชื่อใครเลย เราเชื่อสัจจะ เราเชื่อของจริงที่เรารู้ เราเห็น เราเป็น เรามี ถ้าอย่างนี้แล้ว ได้อย่างนี้จริงแล้ว คุณไม่มีเปลี่ยนแปลง ไม่มีแปรปรวน คุณจะยืนยงยืนหยัด คุณจะเห็น ความว่างจากกิเลส มันสบายยังไง มันหมดเรื่อง มันไม่มีภาระ มันมีอยู่ในโลก สัมผัสสัมพันธ์อยู่ในโลก คนเขาติด คนเขาแพ้มัน คนเขาเป็นทาส เราเห็นอยู่ เราจะช่วยเขาได้ยังไง ก็ช่วย ความสามารถ การช่วยเขาต่อนั่นแหละ คือ คุณค่าของเรา เราได้ประโยชน์แล้ว นั่นคือ คุณค่าของตน เรียกว่าประโยชน์ เราช่วยเขารู้สิ่งนี้ด้วย เมื่อเราเห็น เราก็เข้าใจ บอกเขาทำ ด้วยวิธีที่เคยทำบ้าง หรือเราเห็นว่า เอ๊! มีวิธีอื่นประกอบที่ต้องดู "วิธี" คำนี้ไม่ใช่ "มรรค" "วิธี" คำนี้ก็คือ สิ่งที่มันเป็นบทบาท ท่าทีที่จะประหาร องค์ประกอบที่จะประหาร แต่ละทิศทาง หรือทางที่จะเดินนั่น มันไปสู่ความละ หน่ายคลาย ไปสู่ความหมด โดยการรู้ ด้วยการมี สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ พยายามมีสติ และรู้ให้ชัด ทำอยู่ด้วยทางนี้ ไม่ใช่หนีไปทำทางอื่น โดยการหลบ การลี้ การเลี่ยง ไม่ใช่ แต่วิธีมีซ่อนแทรกละเอียด ลงไปอีก จะรบด้วยวิธีใด จะฆ่าด้วยวิธีใด อันนี้วิธีนี้ เดี๋ยววางก่อน ไกลห่างๆก่อน สั้น ๒-๓ วันก่อน แล้วก็มาประสพใหม่ ประสพอีก แล้วอ่านอีก มันมากไป แบ่งก่อนๆ มันมากไป สู้ไม่ได้ แบ่งลงไปนิดก่อน เอ้า! แบ่งนิดแล้ว สู้ได้ ชนะแล้ว เอ้า! เพิ่มมาๆ ล้วนแล้วแต่เป็นวิธี ที่เราจะต้องรู้ อย่างละเอียด ของเราเอง แต่ทางนั่นเป็นไปเพื่อความละหน่ายคลาย และละ ต้องมีผัสสะ มีการคิด การพูด มีการงาน มีอาชีพ มีความพยายาม มีสติ เห็นได้ถูก แล้วละ เกิดการสั่งสม เป็นสัมมาสมาธิ คือแข็งแรง ตั้งมั่น เกิดอธิทุกอย่าง หลักการก็เห็นว่าถูก เป็นอธิศีล หรืออธิ หลักการ จิตที่ละวางคลาย เป็นการเจริญของจิต จิตดียิ่งขึ้น เป็นอธิจิต ปัญญา คือตัวรู้สัจจะ เห็นจริงๆเลย ปัญญาเห็นแจ้ง ปัญญาทัศนะวิเศษ หรือเป็น ยถาภูตญาณทัศนะ ไม่ใช่ไปนึกไปคิด เห็นบทบาทของศีลทำงาน เห็นบทบาทของกิเลสลด เห็นจิตเจริญขึ้น เห็นอารมณ์ของจิต ที่ว่างจากกิเลสว่า เป็นอย่างไรๆ มันเป็นปัญญาแท้ เป็นอธิปัญญา แล้วคุณก็จะมีศรัทธามั่น แข็งแรง เด็ดเดี่ยว เพราะเห็นของจริง เพราะฉะนั้น "ศรัทธา" ตัวนี้คือ "สมาธิ" นั่นเอง เป็นอินทรีย์พละ ตั้งแต่เริ่มเชื่อ แล้วจะเริ่มพิสูจน์ จนเริ่มวิริยะ ไปจนกระทั่ง สติสัมปชัญญะ ปัญญาเกิด สั่งสมลงเป็นสมาธิ ก็เป็นสมาธินทรีย์ ตั้งมั่น ตั้งมั่น ตั้งมั่น ปัญญินทรีย์ ก็คือตัวที่รู้แจ้ง รู้จริง รู้จบ มันรู้แจ้ง มันรู้จริง แล้วมันเมื่อจบ มันก็รู้จบเลย เสร็จแล้ว วิมุติแล้ว สูญแล้ว ดับแล้ว ไม่เกิดอีกแล้ว มันก็เป็นของจริง อย่างนั้นๆ สมาธิ คือความตั้งมั่น เมื่อจบแล้วมั่นที่สุด เที่ยงตรง ยืนยง เพราะฉะนั้น การเป็นสมาธิ โดยพยัญชนะ ก็บอกแล้ว เราได้อธิศีล เราได้อธิจิต เราได้อธิปัญญา มันเป็นความตั้งมั่น มันเป็นความยืนอยู่ มันเป็นความทรงอยู่ เรียกว่า ธรรม ก็ได้ ทรงอยู่ ทรงจริงๆ มันมีจริงๆ มันไม่ไปไหน มันไม่เสื่อมคลาย แล้วมันแข็งแรง ตั้งมั่นด้วย แล้วมันถาวร อยู่อย่างนี้ด้วย มันไม่แปรปรวนเป็นอื่นอีก นี่ภาษา ลองตั้งใจฟังดีๆ นี่สื่อให้ฟัง แล้วก็ย่อยเรื่อง แต่ละเรื่อง ย่อยๆ นิดๆ พิสูจน์ให้ฟังแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้เข้าใจ และ ได้พิสูจน์จริง มีสภาวธรรมจริง จึงเป็นผู้ที่ไม่คลอนแคลน ไม่แปรปรวน และตัวเอง เป็นผู้พอใจจริง ด้วยปัญญา ด้วยความรู้ เราสมัครใจ จะเอาอย่างนี้ ถ้าเราจะไม่เอาอย่างนี้ เราจะไปเอาโลกียรส ฮิ! ว่างๆ อย่างนี้ มันว้าเหว่ มันจืดๆ ชืดๆ มันไม่อร่อย ไม่สนุก คุณจะไปเอาเสพสม ได้รับกิเลส แล้วก็มาเสพสม อร่อย เป็นแบบ อัสสาทะ รสโลกีย์ๆ คุณก็เลือกเอา อิสรเสรีภาพ ไม่ได้บังคับ ใครที่พอใจในรสเป็นธรรมรส หรือวิมุติรสอย่างนี้ ก็คนนั้น สมัครใจว่า เอ้อ! อย่างนี้เบาดี ไม่ต้องแล้ว สบายแล้ว ไม่จำเป็นหรอก ไม่ต้องไปเสียแรงงาน ไม่ต้องไปวุ่นวาย มีแต่จะช่วยคนอื่น เป็นประโยชน์ท่าน ก็ตรงที่ ให้เขาทำได้อย่างเราบ้าง ดังที่กล่าวแล้ว นี่คือประโยชน์แท้ ตนได้แล้ว ตนสำเร็จ ตนสอนผู้อื่น แม้แต่สอนผู้อื่นด้วย เราก็มีการงาน ที่มีทางกายกรรม วจีกรรม สร้างสรร ดังที่กล่าวมาแต่ต้นด้วย ทำงานที่สมควร มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ศาสนาพุทธนี้ จะมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ในตัวมันเอง แน่ๆ เพราะเราจะรู้เลยว่า การงานอะไร สมควรจะทำ การงานจะรู้ว่า มันสมควรจะทำ ก็เพราะเข้าใจ มิจฉาอาชีวะ ๕ เป็น ระดับๆๆ ซึ่งค่อยๆอธิบายมา อยู่ในขณะนี้ สิ่งที่มันไม่มิจฉาอย่างไร มันเกี่ยวข้องกับคน มันไปหยาบไปตาย ตั้งแต่เป็น กุหนา จนกระทั่ง ลปนา ยังพูดจา กลบเกลื่อนไปมา โกหก หลอกลวง จนกระทั่ง เป็นตลบแตลงอยู่ มันเป็นบ้าง ไม่เป็นบ้าง เป็น เนมิตฺตกตา จนถึง นิปฺเปสิกตา เราเอง ยังถึงตัวมัน จากอันที่รู้แสนรู้ว่า มันยังเป็นความผิด เรายังมอบตน อยู่ในทางผิด เราจะถึงออกมา จนกระทั่งถูก สุดท้าย เราเป็นคนทำงานฟรี ไม่แลกลาภอะไรเลย ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา มันจะเป็น สัจจะจริง เราจะเลื่อนชั้น เราจะเห็นเลยว่า ชีวิตของเรานี่ เป็นประโยชน์ เพราะเราทำงาน ไม่มีสิ่งตอบแทน ไม่เจ๊า และไม่เจ๊ง มีแต่ให้เขาทั้งนั้น มีแต่ให้เขาได้ มีแต่ความกำไร เพราะเราเป็นผู้ที่ให้ ที่จริงเราได้กำไร เพราะเราเสีย เรากำไรเพราะเราสละ สิทธิของเรา เพราะเราทำโดยกรรม พฤติกรรมของเรา เรี่ยวแรงของเรา พลังงานของเรา สมรรถภาพของเรา ให้เขาได้ นี่เป็นเป้าหมาย นี่เป็นทิศทาง ย้ำเน้นให้เห็นเด่นชัด เพราะเราจะขึ้นสู่ สัมมากัมมันตะ เราจะทำการงาน ทั้งสร้างให้แก่คนอื่น ทั้งการงานทางใจของเรา จะเพิ่มฐานขึ้น เสียสละอย่างมั่นใจ ถ้าคุณมั่นใจในสัจจะ มีศรัทธาเด็ดเดี่ยว อย่างที่ว่านี้ เราจะทำงาน ได้กว้างขวาง เราจะเป็นหลักแกน ให้แก่ผู้อื่นอีก ซึ่งจะมีคนเพิ่มมา แล้วการงานจะมากขึ้น แล้วเราจะสร้างสรร แม้แต่วัตถุที่จะเลี้ยง พวกเราเอง อยู่กันเอง ในฐานะแต่ละฐานะ มีทั้งฆราวาส มีทั้งนักบวช แม้แต่พระเอง ก็จะต้องขยัน หมั่นเพียร ที่สร้างอาชีพ หรือทำงาน ที่เราจะต้องระลึกว่า เรากินข้าวเขา เราอยู่ในโลก ไม่เป็นคนหนักแผ่นดิน แต่เราจะเป็นคนมีการงาน ที่เป็นคุณค่า เพราะฉะนั้น การงานที่จะรับผิดชอบ ทางด้านจิตวิญญาณ เราก็จะช่วย หรือแม้แต่การงานทางวัตถุ เราก็จะเอื้ออวยเขาอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่หน้าที่ตรง ที่จะไปขุดดินฟันหญ้า อะไรก็เถิด เราก็จะรู้ว่า บางอย่างต้องยืดหยุ่นบ้าง ตามกาละอันควร ตามความเป็นไป แต่ละหน้าที่แท้ คนรู้หน้าที่ คุณก็จะรับผิดชอบ เราสอนให้รู้ เพราะฉะนั้น ฆราวาสรู้ฐานะ จะทำหน้าที่ที่ตรง อันนี้มันเพี้ยน มันผิด เราเองเป็นผู้ที่เป็นได้รับ ความศรัทธาเลื่อมใส สู้พระท่านไม่ได้ ก็ให้ท่านทำด้าน เป็นผู้ที่มีการสั่งสอน หรือว่า มีความรู้ทางด้าน ใช้ความคิด ใช้ปัญญาที่แท้ เป็นปัญญาอันบริสุทธิ์จริง เป็นหลักการ ทางหลักวิชา ทางด้านสมอง ทางด้านปัญญา ซึ่งไม่ใช่เรื่องของงาน ที่จะมาเกี่ยวกับวัตถุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อะไรมากนัก เราจะเข้าใจซับซ้อนเพิ่มขึ้น เราจะมีหน้าที่ แบ่งหน้าที่ แบ่งกิจกรรม อันสอดร้อยกัน ประสานกัน แล้วก็จะพากันเจริญ เพราะทุกคนรู้หน้าที่ ทุกคนรู้ความเชื่อมโยง สืบต่อเป็นไป ล้วนแล้วแต่ เราจะเห็นว่า เมื่อมันมาเกี่ยวข้องถึงอื่นๆ เข้าไปอีก ตัดลดลงมาจากจิต เราเรียกสมมุติสัจจะทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ผู้ได้ปรมัตถสัจจะ ก็คือ ผู้รู้สมมุติสัจจะด้วย แล้วเราจะมีการงาน ที่เป็นสมมุติสัจจะ อย่างเจริญ อย่างเหมาะสม อย่างดี เพราะจิตรู้ เพราะจิตไม่ยึดถือ เพราะจิตยอม เพราะจิตฉลาด จะให้ทำอะไร มันก็ทำตามความเหมาะจริงๆ ตามความควรจริงๆ ตามความดีจริงๆ มันไม่ดื้อด้านเลย มันเป็นจิต ที่ว่านอนสอนง่าย มันเป็นจิตอ่อน ไม่ใช่อ่อนป้อแป้ๆ ปวกเปียก แต่มันอ่อนเพราะว่าง่าย มันสภาพเรียบร้อย มันไม่ดื้อดึง มันไม่กระด้าง เหมือน อาฬวกยักษ์ เพราะมันรู้ดี แล้วน้อมต่อความดี ความถูกต้อง มันไม่แข็งกระด้างจริงๆ มันไม่ดื้อ มันไม่เป็นกิเลส เพราะฉะนั้นทุกอย่างเร็ว ไม่มีอะไรเสียเวลา ที่จะต้องสะดุด ถ้าเห็นชัดเจน จะทักจะท้วงกันบ้าง ในความที่เห็นว่า อันนี้ควรแก้ไข ก็จะทักท้วง ทักท้วงแล้วเสร็จ เมื่อตัดสินก็ตัดสินเร็ว แล้วก็มีแต่การงาน โดยบทบาท ต่อเนื่องกันไปอย่างเร็ว แล้วก็ราบรื่นไป เพราะไม่มีอะไรดึงทิ้งไว้อีก ไม่มีอะไรหน่วงเหนี่ยวอีก ทุกอย่าง ก็เหมือนกับ ปล่อยแรงเต็มแรง เพราะฉะนั้น การสร้างสรร ก็จึงเกิดได้อย่างมาก มีประสิทธิภาพสูง อธิบายอย่างนี้ ผู้มีปฏิภาณ ฟังแล้วจะเข้าใจได้ดีกว่า คนเราเจริญทุกอย่าง จะอุดมสมบูรณ์ มีมาก มีมวล จะรังสรรค์กัน อย่างเจริญดี ถ้าใครเข้าใจ เพราะฉะนั้น เราเข้าใจแล้ว ยังเหลือแต่ว่า ฝึกตน อย่าให้ขี้เกียจ ให้รังเกียจ เข้าใจให้ชัด มันขี้เกียจเป็นกิเลสจริง เป็นตัวที่จะต้องล้างมันจริงๆ ขี้เกียจรังเกียจ ทำเข้าๆ พอหมดขี้เกียจ หมดรังเกียจแล้ว ปัญญาก็แจ้งชัด ผู้นั้นไม่ตกงาน และผู้นั้น เป็นประโยชน์คุ้มค่า จบอยู่ในคำว่า "เราไม่พัก เราไม่เพียร เราข้ามโอฆสงสาร" ได้จริงๆ เพราะเรามีศรัทธา ในสัจจะที่ทรงขึ้น เป็นขึ้น ในตัวเราเอง จึงเรียกว่า เป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้มี ญาณทัสสนวิเศษ ขอให้ทุกคนพิสูจน์ความจริงเหล่านี้ให้ชัดๆ อย่ามาหลงงมงายในภาษา แต่ต้องมีสัจจะสภาวะ ความจริง แล้วอาตมาก็จะเห็น คนอื่นก็จะเห็น คนจริงที่เป็นจริง ที่ถูกต้องจริง อยู่ในโลก อันพิสูจน์ได้ สาธุ.
|